นายอานันท์ ปันยารชุน เกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๔๗๕ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๑๒ คนของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) และ คุณหญิงปรีชานุสาสน์ (ปฤกษ์ โชติกเสถียร)

     ประวัติครอบครัว การทำงานและการอบรมบุตรธิดาของมหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์นั้นน่าสนใจ และมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อความเป็นนายอานันท์ (ประวัติโดยละเอียดดูได้จากหนังสือ อานันท์ ปันยารชุน : ชีวิต ความคิด และการงาน ของอดีตรัฐมนตรีสองสมัย โดย ประสาร มฤคพิทักษ์ และคณะ สำนักพิมพ์อมรินทร์)

     พระยาปรีชานุสาสน์เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานหลายด้าน ทั้งภาคราชการและภาคเอกชน ในภาคราชการ ก่อนที่ท่านจะลาออกไปประกอบธุรกิจส่วนตัว ท่านเคยดำรงตำแหน่ง ปลัดทูลฉลอง กระทรวงธรรมการ อันเป็นตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งหนึ่งของข้าราชการประจำ หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ท่านกราบถวายบังคมลามาประกอบธุรกิจก่อตั้งบริษัทไทยพาณิชการ จำกัด และออกหนังสือ Siam Chronicle ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษฉบับแรกของคนไทย ทั้งยังเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นนายกคนแรกของสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการพิเศษ ในตำแหน่งที่ปรึกษาทางวัฒนธรรม ประจำสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน คนแรก

     นายอานันท์เริ่มเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนประถมเล็ก ๆ แห่งหนึ่งบนถนนสุรศักดิ์ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสีลมและถนนสาทร ในปี ๒๔๘๖ เข้ารับการศึกษาในระดับมัธยม (ประถมปีที่ ๕ ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ จนจบมัธยมปีที่ ๓ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองย้ายเข้ารับการศึกษาในชั้นมัธยม ๔ (มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปัจจุบัน) ที่โรงเรียนนันทศึกษาเป็นการชั่วคราว แล้วจึงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จนจบมัธยม ๗ (มัธยมศึกษาปีที่ ๕ ในปัจจุบัน) ต่อจากนั้นได้เดินทางไปศึกษา ณ โรงเรียนดัลลิช (Dulwich College) ประเทศอังกฤษในปี ๒๔๙๑ ก่อนเข้ารับการศึกษา ณ ตรินิตี้คอลเลจ (Trinity College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (Cambridge) ในปี ๒๔๙๕ จนสำเร็จการศึกษาวิชากฎหมายในระดับปริญญาตรีด้วยเกียรตินิยม ในปี ๒๔๙๘

    นายอานันท์เป็นผู้ที่ก้าวสู่ตำแหน่งสูงสุดในหน้าที่การงานหลายด้าน ทั้งในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะข้าราชการประจำ ในด้านการทูต ด้านธุรกิจ และด้านการเมือง นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งอื่นๆ อีกมากในด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

     ในการปฏิบัติหน้าที่ข้าราชการประจำในกระทรวงการต่างประเทศ นายอานันท์เริ่มเข้ารับราชการในปี ๒๔๙๘ เป็นข้าราชการชั้นโท ต่อมาในปี ๒๕๐๒ ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ แล้วมาเป็นเลขานุการเอกและที่ปรึกษา คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำสหประชาชาติ ในปี ๒๕๐๗

     ในปี ๒๕๑๐ นายอานันท์เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต รักษาการผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ และเอกอัครราชทูตประจำประเทศแคนาดา แล้วในปี ๒๕๑๕ เข้าดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกา และผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงนิวยอร์ค ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยในปี ๒๕๒๐ เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และต่อมาในปี ๒๕๒๐ จึงเข้าดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตพิเศษประจำกระทรวงการต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตประจำสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน

     ด้วยความผกผันอันสืบเนื่องมาจากสาเหตุด้านการเมือง ในปี ๒๕๒๒ นายอานันท์ลาออกจากราชการเข้าสู่วงการธุรกิจ โดยเข้ารับตำแหน่งเป็นรองประธานกรรมการบริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) แล้วขึ้นเป็นประธานกรรมการบริษัทฯ ในปี ๒๕๓๔ ปัจจุบันนายอานันท์เป็นประธานกรรมการของบริษัทต่างๆ รวม ๕ บริษัท และเป็นกรรมการบริษัท กรรมการที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของบริษัทข้ามชาติต่างๆ อีก ๕ บริษัท ทั้งในอดีต นายอานันท์เคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญต่างๆ ในภาคธุรกิจอีกมากมาย เช่น ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น

     ปัจจุบันนายอานันท์ดำรงตำแหน่งที่สำคัญขององค์กรต่าง ๆ ของประเทศและองค์กรนานาชาติหลายองค์กร เช่น ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูง ด้านภัยคุกคาม ความท้าทาย และการเปลี่ยนแปลง องค์การสหประชาชาติ เป็นกรรมการ สถาบันอู ถั่น เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ เอเซีย แปซิฟิค ลีดเดอชิพ ฟอรัม ออน เอชไอวี/เอดส์ แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ (เอพีแอลเอฟ)

     ในด้านสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาการศึกษา เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันนายอานันท์ดำรงที่สำคัญ เช่น เป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ เป็นประธานสภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย เป็นประธานกรรมการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ประธานกรรมการสภาสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ฯลฯ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งที่สำคัญในอดีตอีกมากมาย

     ในด้านการเมือง นายอานันท์เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีถึง ๒ สมัย สมัยแรกตั้งแต่ ๒ มีนาคม ๒๕๓๔ ถึง ๒๑ เมษายน ๒๕๓๕ และสมัยที่สองตั้งแต่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ ถึง ๑ ตุลาคม ๒๕๓๕

     ในยุคที่มีกระแสความต้องการให้มีการปฏิรูปการเมือง สภาร่างรัฐธรรมนูญได้ก่อกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หรือที่เรัยกกันทั่วไปว่าเป็น รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยบุคคลต่าง ๆ ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และประชาชนมีส่วนร่วม ในการออกความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์ นายอานันท์มีบทบาทสำคัญคือ ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ

     ด้วยผลงานด้านต่างๆ ที่นายอานันท์ได้ทำมา ทำให้นายอานันท์ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการรัฐกิจในปี ๒๕๔๐ ได้รับการประกาศเกียรติคุณต่างๆ รวมทั้งปริญญากิตติมศักดิ์จากสถาบันศึกษาหลายแห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศรวม ๒๐ สถาบัน นายอานันท์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญรัตนาภรณ์ (ชั้น ๓) มหาวชิรมงกุฎ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ทั้งได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศอิตาลี เกาหลี อินโดนีเซีย เบลเยี่ยม ญี่ปุ่น และในกรณีของอังกฤษนั้น ได้รับ Honorary Knight Commander of the Civil Division of the Most Exellent Order of the British Empire (KBE) ซึ่งถ้าเป็นคนสัญชาติสหราชอาณาจักร ก็จะมีตำแหน่งเป็น Sir

     นายอานันท์สมรสกับ ม.ร.ว. สดศรี จักรพันธุ์ มีบุตรี ๒ คนคือ นางนันดา ไกรฤกษ์ และนางดารณี เจริญรัชต์ภาคย์ มีหลาน ๓ คนคือ น.ส. ทิพนันท์ จากนางนันดา ซึ่งสมรสกับ นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ และ ด.ญ. ศิริญดา และ ด.ช. ธนาวิน จากนางดารณี ซึ่งสมรสกับ ดร. ชัชวิน เจริญรัชต์ภาคย์

     ท่านสามารถรับทราบข้อมูลชีวประวัติโดยละเอียดของนายอานันท์ได้ โดยกดเลือกที่นี่